ใครจะคาดคิดว่า จะมีวันที่ชายไทยมาดแมนทั้งหลายร่วมใจกันปฏิวัติตัวเอง ลุกขึ้นมาหยิบจับไม้กวาด ช่วยเมียทำงานบ้านซักผ้าตากผ้าได้อย่างไม่อายใคร!
เนื่องโอกาสในวันรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย “จัดกิจกรรมส่งเสริมสัมพันธภาพในครอบครัว ภายใต้แนวคิด “งานบ้านเป็นหน้าที่ของทุกคน ทำได้ทุกเพศ” หนึ่งในกิจกรรมครั้งนี้คือการเปิดตัว “ผู้ชายสายซอฟท์” พลังความหวังใหม่ที่จะช่วยกันทลายค่านิยม “ชายเป็นใหญ่” ในสังคมไทย โดยเริ่มจากการช่วยทำงานบ้าน และลดเหล้า ต้นเหตุความรุนแรง
รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า ในการทำงานเรื่องนี้ สสส.พยายามชี้ให้เห็นว่า “แอลกอฮอล์” เป็นต้นเหตุสำคัญที่นำไปสู่ปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะในเรื่องเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดความรุนแรง นอกเหนือจากจะส่งผลเรื่องสุขภาพและก่อให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนแล้ว
เธอเอ่ยว่าคนเราปกติอาจเป็นหัวหน้าครอบครัวที่ดี พูดคุยเล่นกับลูกดีๆ แต่พอไปดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เมากลับมา เขาอาจเผลอไปผลักลูก พูดไม่ดีกับลูกหรือทำร้ายภรรยา ซึ่งเหล่านี้ทำให้ลูกความรู้สึกหรือเป็นปมในใจกับพ่อ “เราพยายามชี้ให้เห็นปัญหานี้ และหาทางออกที่จะช่วยแก้ปัญหาได้”
รุ่งอรุณเอ่ยว่า ที่ผ่านมา สสส.จึงได้จับมือกับหลายชุมชน ในการทำงานขับเคลื่อนประเด็นเรื่องแอลกอฮอล์ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพและแก้ปัญหาความรุนแรงที่มาจากแอลกอฮอล์ต่อเนื่องจนสามารถเห็นผลเป็นรูปธรรมมากมาย และสะท้อนให้เห็นด้วยว่าการลด ละ เลิกเหล้า ก็จะทำให้ปัญหาความรุนแรงลดลงตาม
“กิจกรรมที่ สสส.ทำ มีตั้งแต่ ชุมชนคนสู้เหล้า การสร้างครอบครัวเข้มแข็ง และมีหลายชุมชนในพื้นที่ อย่างอำนาจเจริญจากคนติดเหล้า ได้ลุกขึ้นมาเป็นแกนนำท้องถิ่นได้ และสิบปีที่ผ่านมาพิสูจน์ได้ว่าฐานะความเป็นอยู่ คุณภาพชีวิตเขาดีขึ้นจริง
ซึ่งเราไปดึงงานในชุมชนต้นแบบที่เราพยายามช่วยให้เขาดึงความสัมพันธ์ในครอบครัวกลับมา หลายแกนนำที่เป็นผู้ชายเลิกเหล้าเขาต้องมีกิจกรรมทดแทน จริงๆ แล้วผู้ชายถึงเวลาเย็นไม่มีอะไรทำ เขาถึงหันไปดื่มเหล้าสังสรรค์กับเพื่อนๆ และเพื่อที่จะให้เขาพยายามเลิกได้ เราก็ต้องหากิจกรรมทดแทน เพื่อดึงเวลาไม่ให้เขากลับไปดื่ม นี่เป็นเทคนิคที่ชุมชนใช้กัน ก็จะลดเวลาการดื่มไปเรื่อยๆ” แน่นอนว่ากิจกรรมที่ดีที่สุด จึงเริ่มจากกิจกรรมง่ายๆ ที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายก่อน นั่นก็คือกิจกรรมภายในบ้าน
“เนื่องจากครอบครัวเหล่านี้เขาก็ไม่ได้มีฐานะหรือรายได้สูง เราจึงเลือกกิจกรรมในบ้านนี่แหละ เช่น เพาะต้นไม้ดูแลสวน ชวนกันทำกับข้าวด้วยกัน เพราะบางครั้งผู้ชายไม่ทำแม้กระทั่งรดน้ำต้นไม้ แต่การที่เขาได้ลงมือทำการบ้าน ทำให้เขาเข้าใจมากขึ้นว่างานบ้านมันหนักกว่าที่คิด และเขาเริ่มเปลี่ยนวิธีคิดจากการเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเองเหล่านี้ ทำให้ลูกของเขาเห็นว่าพ่อให้เกียรติแม่มากขึ้น ก็จะเป็นเกราะในการป้องกันสำหรับลูกด้วย เพราะเด็กที่เติบโตมาในครอบครัวอบอุ่นและให้เกียรติซึ่งกันและกันเขาก็จะไม่ไปกระทำความรุนแรงกับคนอื่น” รุ่งอรุณกล่าว
ภาพ/ข่าว : คม ชัด ลึก ออนไลน์ วันที่ 26 พฤศจิกายน 2562