สรุปเวทีเสริมพลังขับเคลื่อนงานเทศกาลอาหารปลอดภัย อร่อยได้ ไร้แอลกอฮอล์

เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2557 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จัดเวทีเสริมพลังขับเคลื่อนงานเทศกาลอาหารปลอดภัย อร่อยได้ ไร้แอลกอฮอล์

โดย คำนวณ ประดับราช
ผู้ประสานงานแผนพัฒนากระบวนการนโยบายสาธารณะ

esansab-001

อ.สงกรานต์ ภาคโชคดี (ผอ.เครือข่ายองค์กรงดเหล้า) : “อาหารเป็นที่ 1 ในโลก” (พุทธวจนะ) เรื่องที่ทุกท่านทำจึงไม่ใช่ธรรมดา ตอนนี้เรื่องแอลกอฮอล์หลายพื้นที่ข้ามพ้นไปแล้ว ทิศทางงานใหม่กว้างขึ้นไปในเชิงโภชนาการด้านอื่นๆมากขึ้น ซึ่ง สสส.เองก็มีตัวชี้วัดด้านนี้อยู่.. โครงการก็จะมีชื่อเพิ่มเป็น “งานเทศกาลอาหารปลอดภัย เพื่อสุขภาพ อร่อยได้ ไร้แอลกอฮอล์”

อ.สง่า ดามาพงษ์ (ผู้ทรงคุณวุฒิด้านโภชนาการ สสส.) : งานที่ทุกท่านทำตอนนี้คือ “อนาคต” ของสังคมไทยเลยนะครับ

 
คุณวิษณุ ศรีทะวงศ์ (ผจก.แผนงานพัฒนาฯนโยบายสาธารณะฯ สคล.) : งานเทศกาลอาหารไร้ Alc. ปีนี้นับเป็นปีที่ 7 แล้วจากที่ทำแค่เรื่อง Food No L. ตอนนี้ก็มีเรื่อง Food safety และ Food Security เพิ่มเข้ามาด้วย

 
พี่วิทูรย์+พี่จิ (ผจก.โครงการอาหารปลอดภัย เพื่อสุขภาพ อร่อยได้ ไร้แอลกอฮอล์) : เวทีวันนี้เน้นให้หลายๆพื้นที่มารู้ มาดู มาเห็นกัน เพื่อสร้างสังคมอาหารปลอดเหล้า ปลอดภัย โดยมีพื้นที่นำเสนองานจากทุกภาคกว่า 11 พื้นที่ โดยเชิญผู้ทรงคุณวุฒิ 5 ท่านมาให้ความคิดเห็นด้วย

 

คุณกังวาน ครองยุติ (กลุ่มเครือข่ายหมากหัวลิง บ้านนาดี จ.หนองคาย) : ปายเป็นอดีตที่ทุกท่านรู้จักผมเป็นความภูมิใจ และยังกลับไปอยู่เสมอ แต่ที่นี่คือบ้านที่ผมเติบโตมา เห็นปัญหา เรียนรู้ว่าคนอีสานบ้านผมต้องทำงานแบบ “หนังขายยา” กว่าเขาจะซื้อยาฆ่าพยาธิซักซองต้องฉายหนังเป็นสิบรอบ คือย้ำไปเรื่อยๆ เมื่อเขาเห็นดีนั่นแหละจึงจะเปลี่ยน… คือของดีจะติดตาไปจนนำไป “ส่า” ร่ำลือปากต่อปากเอง…ผมเริ่มจากการทำงานร่วมกับกลุ่มเยาวชนในพื้นที่ และเน้นในประเด็น “ความมั่นคงทางอาหาร” ด้วย

 

คุณเพ้ง นายสุรพล (นายกสมาคมสมาพันธ์ธุรกิจการท่องเที่ยว จ.สงขลา) : ผมบอกทุกคนที่ทำงานหาดใหญ่ว่า “เราทำงานท่องเที่ยว คือเราทำงานให้สังคม ซึ่งก็คือเราต้องคิดถึงสังคมข้างหน้าด้วย”…มีคนถาม “งานเทศกาลอาหารสงขลาเป็นงานกินเจอยู่แล้ว ทำไมต้องมีไร้แอลกอฮอล์” ผมตอบด้วยการถามว่าระดับชาติวันเข้าพรรษาก็งดเหล้า ก็ยังต้องงดเหล้าเข้าพรรษาอยู่

 

อ.สง่า ดามาพงษ์ : งานเทศกาลอาหารตอนนี้ไม่ใช่แค่ 2 มิติ (อาหาร+No L) แล้วแต่เห็นว่าภูเก็ตทำถึง 3D สามมิติน่าสนใจ คือ มิติด้านเศรษฐกิจ, มิติด้านวัฒนธรรม, มิติด้านสุขภาพ และยิ่งกว่านั้นทราบว่านายกในพื้นที่เองก็เป็นเอเย่นต์ แต่ยังแยกงานนี้ไม่ให้มีแอลกอฮอล์ได้น่าชื่นชมมาก

อ.จงกลนี วิทยารุ่งเรืองศรี (ผู้ชำนาญการด้านงานสาธารณสุข) : หลายที่ก็ทำงานในด้านโภชนาการแล้วก็ขอฝากให้ดูเรื่อง ภาชนะ, น้ำดื่มโดยเฉพาะน้ำแข็งที่ไม่สะอาด, น้ำล้างภาชนะ, ถ้วยก๋วยเตี๋ยวไม่มีสารตะกั่ว, ลดน้ำมันและของทอด, เพิ่มผักผลไม้ ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องสุขภาวะด้านอาหาร

 

อ.มานพ แย้มอุทัย (ผู้ทรงคุณวุฒิ สสส.) : ที่ภูเก็ตทำ “แผนที่อาหารพื้นเมือง (Local food)” ด้วยทำให้ติดตามไปกินได้หลังงาน พื้นที่อื่นอาจพัฒนาไปได้ให้คล้ายๆหนังสือแนะนำที่กินดีๆแบบที่ ปตท., ฯลฯ เขาทำกัน

 

อ.มณทิรา วิโรจน์อนันต์ (ผู้ทรงคุณวุฒิ สสส.) : ขอชื่นชมหาดใหญ่ที่ให้โอกาสกับผลิตภัณฑ์ชุมชน OTOP ระดับ 1-3 ดาว ซึ่งเขาต้องการโอกาสและพื้นที่ ซ้ำยังอาจจะให้ใจเรามากกว่า 4-5 ดาว… ด้านพื้นที่บ้านนาดี อ.เฝ้าไร่ การเข้าไปทำงานและให้โอกาสกับกลุ่มน้องๆในชุมชน และอยู่นอกระบบโรงเรียนจะทำให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืนได้ และยังทำงานแบบเข้าใจจริตชุมชนวางเป้าหมายแบบ “หนังขายยา” ส่วนตัวแล้วชอบอะไรที่รู้สึกว่า “Small is Beautiful” ค่ะ

 

อ.กัญชิตา ประพฤติธรรม : รู้สึกว่าได้เห็นคุณค่า ทุกพื้นที่ร่ำรวยคุณค่า อาสาว่าอยากจะเข้าไปถอดบทเรียนหลายๆที่ เช่น ที่ภูเก็ตอยากจะเข้าไปถอด-ทำเป็นหนังสือคู่มือออกมาแบ่งปันให้พื้นที่อื่นๆด้วย

 

อ.อิทธิเดช ไชยชนะ : ทุกวันนี้ธุรกิจแอลกอฮอล์เขาจัดงานไม่ได้กำไรก็ทำ เขาหวังยึดพื้นที่เป็นหลัก ซึ่งเขาลงไปถึงระดับงานตำบลกันแล้ว เราก็ไม่ได้อยากจะกลั่นแกล้งเขาแค่อยากให้อยู่ในกรอบของกฎหมายก็ดีแล้ว ส่วนตัวลงไปจับในพื้นที่มาก็หลายปี ได้มาฟังพื้นที่ทำงานวันนี้ก็ได้คิดว่า “กฎหมายไม่ใช่คำตอบสุดท้ายเสมอไป” ความร่วมแรงและตั้งใจจริงของพวกท่านต่างหากที่ได้ผลดี
นายกเทศมนตรีตำบลพนมสารคาม : “งานถนนสายอาหารมิใช่ตลาดให้แม่ค้ามาค้ากำไร แต่คืองานโชว์ของดีของพื้นที่ และให้ผู้บริโภคตาไปชิม”

เสียงจากเหนือบน

esansab-002
กิตติ ทิศสกุล (นายกสมาคมสมาพันธ์ธุรกิจการท่องเที่ยว จ.เชียงราย) : โดยส่วนตัวเชื่อว่า “คนที่ทำให้บ้านเมืองพัฒนา ไม่ใช่หน่วยงาน หรือแม้แต่นักการเมือง แต่เป็นประชาชนในบ้านเมืองนั้นๆต่างหาก” เชียงรายเป็นบ้านหลังหนึ่งของกลุ่มธุรกิจแอลกอฮอล์ 2 ค่ายใหญ่ มีที่ดินรวมกันกว่า 20,000 ไร่ครอบคลุมในจังหวัด ที่ผ่านมาทำงานยาก ปีที่แล้วทำแบบปลอดแอลกอฮอล์เป็นปีแรก อาศัยการบูรณาการกับหน่วยงานความร่วมมือหลายๆส่วน ก็พอทำได้ ปีนี้ต้องต่อเนื่องคาดว่าจะจัดงานในราวเดือนมิถุนายน (หลบงานเทศกาลดอกไม้บานเชียงราย)

 

วัชรีพรรณ เตมียบุตร (รองนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองพะเยา) : เป็นทีมบริหารงานเทศบาลชุดใหม่ เพิ่งเริ่มงานปีกว่าตอนนี้ก็ “ประกาศเป็นนโยบายให้ทุกงานประเพณีของเทศบาลจะต้องทำให้ปลอดเหล้า” ปีที่ผ่านมางานเทศกาลอาหาร กินปลากว๊านพะเยา ก็จัดให้ปลอดเหล้า แม้จะมีคนเดินถือมากิน ก็มี อปพร.เข้าไปเตือน ต่อเนื่องถึงสงกรานต์ก็ทำต่อ แต่งานนี้ค่านิยมคนเดินทางกลับบ้านจะต้องกินสังสรรค์ ทำให้โดนกระแสจากชุมชนมาแรงพอสมควร แต่ก็จะพยายามทำต่อไป เพราะส่วนตัวก็มีพื้นฐานมาจากสาธารณสุขงานด้านสุขภาพชุมชนยังอยู่ในใจเสมอแม้จะเกษียณแล้ว ที่กำลังจะถึงก็คืองาน “ข่วงวัฒนธรรม” จัดรวมกับงานดอกไม้ ปลายเดือนธันวาคม ก็จะต้องทำให้ปลอดเหล้าอีก

 

อ.มานพ แย้มอุทัย : อยากให้เครือข่ายที่ทำงานดึงเอาพลังจาก “มหาวิทยาลัย” กวักมือเรียกนักศึกษาในพื้นที่มาใช้ให้มากขึ้น เพราะเขามีประสิทธิภาพ มีศักยภาพสูง มีของ ต้องการแค่พื้นที่และโอกาส รวมถึงสื่อใหม่ๆหลากหลายของ สสส.ในหลายๆสำนัก สสส.เองสามารถเชื่อมเคเบิลในพื้นที่ให้ได้ ด้วยว่ามีการหนุนเสริมกันอยู่

อ.มณทิรา วิโรจน์อนันต์ : ชอบเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย ที่เข้าร้านแล้วต้องล้างมือก่อนของ อ.ละงู จ.สตูล พื้นที่พนมสารคามที่สามารถออกเป็นระเบียบ (นโยบาย) ของพื้นที่มาใช้ ด้านมหาสารคามคิดเพิ่มว่าจัดงานคิดว่าดี แล้วต้องโดนด้วย แสง สี เสียง จะเพิ่มเข้าไป ด้านปัตตานีเริ่มจากโดนใจ ร้านค้าชอบขายได้ แล้วต้องให้ดีขึ้น และตัวสุดท้ายยังได้ใจด้วย (วงดนตรีจากพื้นที่) งานเทศกาลอาหารทะเลสองสีจากสงขลา ใหญ่สุด เยอะสุด งานประชาสัมพันธ์ถึง

อ.กัญชิตา ประพฤติธรรม : ทำเรื่องอาหารปลอดภัยแล้ว อยากเห็นการพัฒนาในด้าน “วิทยากรกระบวนการ” เพื่อการขยายผลการทำงานให้กว้างขึ้นด้วย ความรู้ในเรื่องของอาหารปลอดภัยให้ขยายผลได้ถึงมากขึ้น หลายที่เห็นการมีส่วนร่วมของเกษตรกร กลุ่มผู้ผลิตในเบื้องต้น ซึ่งสำคัญพอๆกับความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ

อ.ยนต์ อิทธิเดช : พนมสารคามมีจุดเด่นคือ ทุกชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งก่อนงาน ระหว่างงาน หลังงาน ฝากดึงเยาวชนเอากลับมาจากธุรกิจเหล้าให้ได้ เราไม่ใช่ศัตรูเขาแต่เราต้องปกป้องเยาวชน

อ.สง่า สรุป : วันนี้วงการรณรงค์ต้องบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ ผมได้เห็นสิ่งดีๆขึ้น 2 กลุ่มคือกลุ่มที่ทำแล้วดีพัฒนาต่อไป และกลุ่มที่กำลังเอาไปทำก็ได้มาเรียนรู้ร่วมกัน ก่อนกลับวันนี้ผมอยากจะฝาก 10 คำถามเป็นการ Challenge (ท้าทาย) พวกท่านที่กำลังจะกลับไปทำงานในพื้นที่ต่อไปว่า
1. ทำงานนี้ท่านได้อะไร? ได้กล่อง หรือซอง ถามตัวเองดูก่อน
2. จะได้เงินที่ไหนมาลงทุน? เป็นโจทย์ท้าทายมากๆ หลายจังหวัดทำได้ หลายจังหวัดไปไม่รอด
3. จะจุดประกายผู้นำและชุมชนอย่างไรให้ตระหนักร่วม?
4. จะทำอย่างไรให้ภาคีเครือข่ายร่วมเป็นเจ้าของ? (Ownership)
5. จะทำให้งานมีเสน่ห์ได้อย่างไร/อะไรคือจุดขาย?
6. จะทำให้งานสะท้อนออกมาอย่างน้อยสี่มิติ (4D) ได้อย่างไร? (เศรษฐกิจ, วัฒนธรรม, สุขภาพ, สิ่งแวดล้อม)
7. จะทำอย่างไรให้กลุ่มเสี่ยง (เยาวชน) เข้าร่วมงานมากขึ้น?
8. จะสื่อสารงานให้เสียงดัง กว้างไกลได้อย่างไร?
9. ระบบบริหารจัดการเป็นอย่างไร?
10. จะทำให้เกิดเป็นนโยบายสาธารณะได้อย่างไร?
และหลังจากวันนี้ไปจะมี 2 อย่างเกิดขึ้น คือ
1. คุณสุวรา แก้วนุ้ย จะถอดบทเรียนและทำคู่มือให้คนทำงานจากเวทีนี้
2. ช่วงเดือนตุลาคมจะจัดอีกเวที ไม่เกิน 15 คน ทำ Policy เสนอในโอกาสของ คสช.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า