พูดถึงการสวดมนต์ หลายๆ คงจะนึกถึงภาษาบาลีที่ฟังแล้วไม่ค่อยเข้าใจว่าความหมายคืออะไร และทนฟังจนจบ โดยที่ไม่เข้าใจความหมาย อีกนัยหนึ่งการสวดมนต์ตามความเข้าใจของคนทั่วไปคือการท่องคาถา ที่ศักดิ์สิทธิ์ฟังด้วยความเคารพ นี้คงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ไม่ค่อยอยากเข้าร่วมสวดมนต์
เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2560 เครือข่ายพระสงฆ์ 4 ภาค ประกอบด้วยเครือข่ายพระสงฆ์ภาคใต้ เครือข่ายพระสงฆ์ภาคเหนือ เครือข่ายพระสงฆ์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและเครือข่ายพระสงฆ์ภาคกลาง ได้ประชุมสรุปบทเรียนการดำเนินโครงการ สวดมนต์ภาวนาเป็นประจำเพื่อลดอบายมุข ณ ห้องประชุมสานใจ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) โดยมีพระครูสุวรรณโพธิวรธรรม,ดร ประธานมูลนิธิสังฆะเพื่อสังคม ประธานการประชุมและนายธีระ วัชระปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ร่วมพูดคุยเพื่อสรุปบทเรียนการทำงาน
จากการทำงานในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา มีผลที่เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมหลายพื้นที่ ประสบความสำเร็จในการ ใช้กิจกรรมสวดมนต์แทนการเลี้ยงฉลองงานวันเกิด วันรับปริญญา หรือสวดมนต์เป็นประจำตามโรงเรียนต่างๆ จนปัจจุบันหลายแห่งสามารถขับเคลื่อนในระดับอำเภอ จากการสรุปบทเรียนพบว่า การจะสวดมนต์ให้ประสบความสำเร็จนั้นต้องประกอบไปด้วย 4 ขึ้นตอนดังนี้
ขั้นที่ 1 การคัดเลือกบทสวดมนต์ที่เหมาะสม และแปลบทสวดให้ผู้สวดกระจ่างในความหมายที่ตนเองได้สวด ที่สำคัญบทสวดมนต์จะต้องไม่ยาวหรือสั้นเกินไป ควรอยู่ที่ประมาณ 20 – 30 นาที ถึงจะพอเหมาะ
ขั้นที่ 2 จัดเตรียมสถานที่สวดมนต์ ให้มีบรรยากาศโล่งสบาย ไม่มีสิ่งรบกวน สะอาด การจัดเตรียมสถานที่ ไม่จำเป็นต้องจัดเป็นระเบียบมากเกินไป ลดความเป็นพิธีการลงมา คงไว้แต่เพียงบรรยากาศที่ทำให้ผู้เข้ามาแล้วสบายใจ สามารถนั่งสวดได้เป็นเวลานาน อันนี้ก็ต้องพิจารณาตามบริบทของแต่ละพื้นที่
ขั้นที่ 3 พระสงฆ์ผู้นำสวด ก็มีความสำคัญไม่น้อยเช่น เพราะผู้นำสวดมนต์ เป็นต้นเสียงที่กระตุ้นให้ผู้สวดตามอยากสวด ไม่ควรนำเสียงสูงหรือ เสียงต่ำเกินไป หรือแม้กระทั่งการแก้ไขปัญหาเฉาพะหน้าในกรณีที่มีปัญหาขณะที่สวด นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้นำสวด (ส่วนใหญ่เป็นพระสงฆ์) จะสัมพันธ์กับศรัทธาของชาวบ้านที่เข้ามาสวดมนต์
ขั้นที่ 4 เปิดโอกาสพูดคุยภายหลังการสวดมนต์ ซึ่งเป็นกระบวนการสนทนา ถาม ตอบ หรือ จะแบ่งกลุ่มย่อยก็ตามแต่สะดวก เพราะกระบวนการหลังจากที่สวดมนต์ เป็นเหมือนการเติมเต็มให้ผู้สวดได้พิจารณา และแลกเปลี่ยนถึงประโยชน์ที่ได้จากการสวดมนต์ โดยเฉพาะพระสงฆ์จะได้อธิบายถึงอานิสงส์ของการสวดมนต์อย่างเป็นกันเอง
แน่นอนว่าการสวดมนต์ไม่เพียงแต่สวดมนต์ที่ให้เสร็จสิ้นไปตามขั้นตอนพิธีกรรมเท่านั้น แต่หากทำเป็นประจำ ต่อเนื่อง ก็จะส่งผลมหาศาล นอกจากนี้การสวดมนต์ที่เครือข่ายพระสงฆ์ 4 ภาค ดำเนินกิจกรรม เป็นกระบวนการสร้างปัญญา และนำไปสู่การพัฒนาสุขภาวะของผู้สวดมนต์ ที่ไม่เพียงแต่เข้าถึงปัญญา แต่ยังยกระดับตนเองไม่ยุ่งเกี่ยวกับอบายมุขมึนเมาต่างๆ อีกด้วย ในโอกาสปีใหม่ที่จะถึงนี้ ขอเชิญชวนทุกท่านร่วมสวดมนต์ข้ามปี สร้างความให้ตนเองกันนะครับ
เรื่อง ธวัชชัย จันจุฬา
ขอบคุณภาพ WBTV