
หากคิดถึงจังหวัดน่าน ใครหลายๆ คนคงจะนึกถึงประเพณีแข่งเรือ ที่ลือเลื่องจนกระทั่งเป็นงานสำคัญที่สร้างชื่อเสียง และดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาในจังหวัดหลายหมื่นคน ว่ากันในช่วงเทศกาลแข่งเรือแล้ว โรงแรม รีสอร์ท ที่พัก ต่างๆ ถูกจองเต็ม อย่างไรก็ตามประเพณีแข่งเรือไม่เพียงแต่สร้างรายได้ทางเศรษฐกิจจำนวนมหาศาลเท่านั้น แต่ยังทำให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการและเป็นเจ้าของวัฒนธรรมร่วมกันอย่างแท้จริง
เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560 จังหวัดน่านได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นทิศทางการจัดงานประเพณีแข่งเรือน่านขึ้นมา เพื่อให้คนเมืองน่านได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น ถ่ายทอดสดทาง สวท.จังหวัดน่าน และเครือข่ายวิทยาชุมชน โดยมีนายสุรพล รัตน์มาศ นายเทศมนตรีเมืองน่านเป็นประธานการประชุม ซึ่งมีมุมมองหลากหลายจากที่ประชุมต่อทิศทางการแข่งเรือน่าน
นายราเชน กาบคำ นายกสมาคมเรือแข่งน่าน : ได้เล่าถึงเป้าหมายการจัดแข่งเรือน่านว่า เป็นการแข่งขันเพื่ออนุรักษ์มรดกที่ล้ำค่า โดยมีทั้งการฟื้นฟู่ เผยแพร่ เฝ้าระหวัง อะไรที่จะเปลี่ยนแปลงไปมากนักและที่สำคัญ ไม่ให้วัฒนธรรมสูญหายไป ความเป็นมาขอการแข่งเรือจากหลักฐานการบันทึกพบว่า สมัยก่อนถนนไม่สะดวกก็เลยเอาไม้มาขุดเป็นเรือ เวลามีงานบุญ สิบสองเป๋ง ก็จะมีการกิ๋นสลาก ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นการแข่งขันเรือยาวในสายน้ำต่างๆ
หลังจากที่ทำบุญทางศาสนาเรียบร้อย ก็เอาเรือที่เป็นพาหนะขนส่งมาแข่งขันเพื่อความสนุกสนานของชาวบ้าน ไม่ได้แข่งขันเอาแพ้ เอาชนะแต่อย่างได รางวัลสำหรับผู้ชนะได้แก่ เหล้าขาว ตะเกี่ยงพายุ ต่อมาก็นำเรือใช้งานในงานทอดกฐินพระราชทาน มีการนำกติกาสากลมาจับให้เป็นมาตรฐาน ในอดีตการจัดแข่งขันเรือที่ใหญ่ที่สุดคือแข่งเรือเวียงสา ต่อมาโอนให้เทศบาลเมืองน่านมีการ “แข่งเรือล้านนาฉลองง่าดำ” มีการเก็บบัตรเข้าชม นายกสมาคมเรือแข่งยังกล่าวต่ออีกว่า ปัญหาเกิดจากขาดการเฝ้าระวัง ทำให้มีการพนัน การแข่งขันมุ่งเอาแพ้เอาชนะมากจนลืมคุณค่าของการแข่งเรือ
นายสโรช รัตนมาศ วัฒนธรรมจังหวัดน่าน : กล่าวว่า จิตวิญาณที่เราลืมคือความสนุกสนาน ดังเดิมจริงๆ แข่งเรือเพื่อความสนุกสนาน ไม่ใช่เพื่อรางวัล มีงานบุญตามวัดต่างๆ ไม่ได้เอาชนะจริงจัง จัดกฐิน ครั้งแรกของการนำเรือมาใช้งานงานสำคัญก็คือ เจ้าพยาวรวิชัย มีการฟ้อนบนเรือ ในปี 2525 ทางจังหวัดน่าน ได้ขอถ้วยพระราชทาน จนปัจจุบันเข้าสู่ยุคการแข่งขันถ่ายทอดสดทางสื่อ
ถ้าดูจากประวัติศาสตร์แล้วจะพบว่า เมืองน่านคนที่จัดแข่งขันเรือก็คือเจ้าเมืองน่าน ต่อมาหายไป ปัจจุบันน่านมีเรืออยู่ประมาณ 200 ลำ โดยส่วนตัวเห็นว่าการแข่งขันเรือนั้นมีเป้าหมายเพื่อ สร้างคน สร้างผู้นำ สร้างปราชญ์ท้องถิ่น สิ่งที่ต้องเชื่อมโยงคือการสร้างคุณค่า ให้คนตระหนักว่า เรือเรามีความสำคัญควรอนุรักษ์อย่างไร เรือก็มีชีวิตจิตใจ ไม่ใช้ไม้อย่างเดียว ปัจจุบันการมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่างๆ หายไป ถ้าจะให้เรือเกิดความยั่งยืนจะต้องมีประเพณีเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น งานกฐิน ประเพณีตามช่วงเวลาต่างๆ
นายสุรพล รัตน์มาศ นายเทศมนตรีเมืองน่าน : กล่าว่า การแข่งขันแบบเดิมมีเรื่องเหล้า และการพนันเข้ามาเกี่ยวข้อง ทุกวันนี้เราจะกลับไปใช้แบบวิถีดั้งเดิมก็คงตัดสินใจไม่ยากสำหรับการจัดการแข่งขัน เอารางวัลถ้วยแบบเดิมไปเลย รูปลักษณ์ คนจัดแข่งขัน เดิมมีเรือ 100 ลำ เหลือ 10 ลำ เราประสบความสำเร็จในการจัดการแข่งขันชิงถ้วยพระราชตั้งแต่ สมเด็จพระเทพพระรัตน์ราชสุดาบรมราชกุมารี, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา
สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นการจัดการแข่งขันเพื่อถวายพระเกียรติฯ ใช้งบประมาณเกือบแสนต่อลำทั้งการ ซ่อมเรือ การฝึกซ้อม และมีการสนับสนุนสองหมื่นบาทสำหรับเรือใหม่ ปัจจุบันการใช้จ่ายสนับสนุนการจัดงานแข่งขันเรือนั้น ทางกระทรวงมหาดไทยแจ้งว่า ใช้เงินผิดระเบียบ เทศบาลจึงชะลอการใช้จ่ายและต้องรอผลการวินิจฉัยจากกระทรวงมหาดไทยเสียก่อน เทศบาลจึงลำบากใจที่จะสนับสนุนการจัดงานแบบเดิม
วันนี้เราจะเอาแบบไหน แบบเดิม ไม่มีอะไรก็เอาตามนั้น แต่ถ้าอยากจะเอาแบบมีงบประมาณสนับสนุน ลูกหลาน ชุมชน เข้ามามีส่วนร่วม ทำกับข้าว ซ้อมเรือ สิ่งเหล่านี้ต้องใช้งบประมาณ เราเคยเข้าไปขอความเมตตาจากพระสงฆ์ที่เป็นวัดหลวงรับกฐินพระราชทานว่า ขอให้จัดตรงกับการแข่งขันเรือ แต่ก็ติดที่เจ้าภาพไม่สะดวก บางปีก็มีความพยายามเชิญต่างประเทศทาร่วมแข่งขันเช่น ประเทศลาว ประเทศเวียดนาม
ทางเทศบาลจะทำหนังสือมอบให้จังหวัดน่านเป็นผู้รับผิดชอบประเพณีการแข่งขันเรือ เพราะเทศบาล จ่ายเงินให้ชุมชนไม่มีระเบียบรองรับ แม้กระทั่งหน่วยงานต่างๆ ที่มีเจตนาต่อการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีก็ถ่อยออกมา ต่อไปจังหวัดต้องเป็นเจ้าภาพหลักในการทำงาน ทั้งนี้เทศบาลพร้อมให้การช่วยเหลือเท่าที่ทำได้
พระครูธรรมธาธร พระนักภาคเรือ: เล่าว่าพระสงฆ์กับเรือมีความเป็นมาอย่างไร ว่าไปแล้ว พระสงฆ์กับเรือเป็นของคู่กัน เมื่อก่อนเรือของพระสงฆ์ใช้สำหรับเดินทางไปร่วมงานบุญกินสลาก พองานพิธีเสร็จก็ลงมาแข่งเรือกัน การทำเรือต้องใช้ไม้ลำเดียวขุด อันนี้จึงเป็นที่มาว่า ทำไมไม่ให้ผู้หญิงขึ้นเรือ จริงๆ เป็นกุศโลบาย ไม่อยากให้พระสงฆ์กับผู้หญิงนั่งไม้ในแผ่นเดียวกัน เพราะจะเป็นอาบัติ สมัยก่อนพระสงฆ์เป็นช่างเรือก็มีมากมาย พระสงฆ์เกี่ยวข้องตั้งแต่การสู่ขวัญเรือ ประวัติต่างๆ ถูกเขียนขึ้นโดยพระสงฆ์ที่สนใจเรื่องนี้ คุณค่าของการแข่งขันเรือก็คือ การนำคนแก่ หนุ่มสาว มาร่วมในงานแข่งเรือ การมีส่วนร่วมของชุมชน สะท้อนการทำงานของชุมชน เหมือนเรือลำหนึ่ง หมู่บ้านเหมือนเรือลำหนึ่ง เมื่อก่อนนั่งดูการแข่งเรือซักพักก็ต้องวิ่งหนีเพราะมีการทะเลาะวิวาท
แม้ว่าทิศทางการพูดคุยจะเป็นอย่างไร แต่ประเพณีการแข่งขันเรือน่านก็เป็นจิตวิญาณของคนที่นี่ที่จะต้องสืบสานต่อไป แม้ว่าประเพณีแข่งเรือกำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงและความเปลี่ยนผ่านในยุคต่างๆ วันนี้การแข่งขันเรือน่านก็ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง ด้วยเงื่อนไขหลายประการ คงเป็นคำถามที่ต้องถามคนเมืองน่านดังๆ ว่า “จะมีส่วนร่วมและอนุรักษ์ประเพณีที่ทรงคุณค่าของคนเมืองน่านได้อย่างไร โดยเฉพาะการจัดงานที่ไม่มีเหล้าสุรา สิ่งเสพติด การพนันเข้ามาเกี่ยวข้อง”
เขียนและถ่ายภาพโดย ธวัชชัย จันจุฬา