บทความนี้คัดลอกมาจากหนังสือ บุก_คนสาธารณะ พิมพ์ครั้งที่ 1 มกราคม พ.ศ.2556
“การทำงานเพื่อส่วนรวม คิดไม่ได้หรอกว่า การทำงานจะต้องมีคนมองเห็น งานแบบที่เราทำ มันมีผลต่อคนจำนวนมาก เป็นงานเบื้องหลัง และมันจะกลายเป็นแรงบันดาลใจ ความภูมิใจที่ได้ทำเพื่อผู้อื่น”
ธนกฤต ชูเชิด
อดีตนายกสโมสรนักศึกษาคณะการสื่อสารมวลชน
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปีการศึกษา 2555
ผมรู้จักกิจกรรม ตั้งแต่เรียนชั้นประถมศึกษา ตอนแรกเป็นกิจกรรมชมรมฟุตบอล อาจารย์ชวนมาทำก็ทำ ก็เริ่มเห็นว่า นอกจากการเรียนแล้ว จะต้องทำกิจกรรมอะไรสนุกๆ ไปด้วย เพื่อเสริมสร้างศักยภาพตัวเรา เริ่มชอบทำกิจกรรมจริงๆ จังๆ ตอนมัธยมศึกษา ม.4 ได้เป็นคณะกรรมการนักเรียน เป็นตัวแทนของนักเรียนเพื่อทำงาน กับนักเรียน ครู อาจารย์ ผู้ปกครอง ที่ทำให้อยากทำกิจกรรมต่อ เพราะได้ประสบการณ์การเรียนรู้ จากสิ่งที่เราได้พบ ได้เจอ สื่อสาร พูดคุยกับทุกคน เราทำแล้วมันเกิดความภูมิใจ คิดแล้วรู้สึกว่ามันคุ้ม แม้มันอาจจะแลกด้วยความเหน็ดเหนื่อยแต่มันคุ้มกับสิ่งที่เราได้มา
กิจกรรมที่เราชอบมากที่สุด คือ การเป็นอาสาสมัคร ตลอดระยะเวลา 8 ปี เป็นงานที่น้อยคนที่จะเข้ามาช่วยและทำ ณ จุดนี้ การช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ เพราะก่อนหน้านี้ ผมเคยตกอยู่ในสภาวะ ที่เราเคยอยู่ในจุดจุดนั้น จากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับครอบครัว รถเกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำที่จังหวัดพิจิตร ตอนนั้นเวลาประมาณตี 3 ผมเรียนอยู่ชั้น ม.3 เดินทางทั้งครอบครัว พ่อกับแม่ ผมมีสติอยู่คนเดียว และพยายามที่จะเรียกรถที่ผ่านไปผ่านมา เกือบ 10 คัน แต่ไม่มีใครลงมาช่วยเลย ผมบาดเจ็บ พ่อเลือดไหลที่หัว แต่มีรถอีกคันที่จอดและให้ความช่วยเหลือ ครอบครัวของผม คือรถกู้ภัย เจ้าหน้าที่เหล่านี้ คือคนที่ต่อชีวิตของครอบครัวพวกเรา เหตุการณ์นี้ ทำให้ผมอยากทำงานกู้ภัย ความที่เรารอดนี่แหละเราอยากจะเป็นส่วนหนึ่ง เรารู้สึกถึงหัวอกคนที่เจ็บปวดอยู่แล้ว มันกลายเป็นสิ่งที่เราต้องออกมาทำเพื่อคนอื่นบ้าง คนที่ประสบอุบัติเหตุต้องการคนช่วยเหลืออยู่แล้วอย่างแน่นอน เวลาที่เราโดยรถชนหรือการถูกทำร้ายเราจะตื่นเต้น เหมือนไม่มีใคร เราทำอะไรไม่ถูก เราได้เข้าไปเป็นเพื่อนเขา และทำให้เขาอุ่นใจ เริ่มทำงานอาสากู้ภัยที่สุโขทัย และมาทำต่อที่เชียงใหม่เพราะงานนี้เป็นงานที่เรารัก มันมีคุณค่า พอได้ช่วยคน เรามีความรู้สึกมีความสุขตลอด
งานอาสา คือ งานที่ไม่ใช่งานหลัก ไม่ใช่อาชีพ มันเป็นงานที่เราสามารถทำเวลาว่างได้ เป็นงานที่ทำแล้วไม่เดือดร้อนคนอื่น การทำงานที่เกิดจากใจไม่มีใครบังคับ ทำโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆ สิ่งที่ตอบแทน คนทำงานอาสา คือ การค่อยๆ สั่งสมประสบการณ์ ทำให้เรามีทักษะในการใช้ชีวิตมากขึ้น มีความน่าเชื่อ สังคมให้การยอมรับเรา การวางตัว คนร่วมงาน100 คน 100 แบบ 100 คน ร้อยเหตุผล จิตใจคนไม่เหมือนกัน เราจะต้องเปิดใจยอมรับบางครั้งต้องคล้อยตาม เอาสิ่งดี เข้ามาเติมเต็มกัน จึงจะทำให้หลายสิ่งหลายอย่างมันเกิดพื้นที่ร่วมกันได้ การทำกิจกรรมอาสา ต้องเกิดจากความอยากทำ และต้องเกิดจากใจไม่ใช่การบังคับ ตอนทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัย ผมทำไม่ชวนใครเลย แต่พอเขาเห็นเราทำ และอยากทำก็จะบอกกับเราแบบนี้ ผมรับเลย เพราะว่ามีใจที่อยากทำ ผมมองว่ามันได้ใจมากกว่า เหมือนการเป็น Idol หรือ คนต้นแบบ เห็นเขาทำเราก็อยากทำบ้าง งานที่ผมทำเป็นงานเพื่อประชาชน ทำงานหน้างาน ผมไม่ได้คิดหรอกว่าการทำงานของผมจะต้องมีคนมาเห็น งานแบบที่เราทำมันมีผลต่อคนจำนวนมาก และกลายเป็นแรงบันดาลใจในการทำงานร่วมกัน
ข้อคิดสำคัญ
“ความเป็นพลเมือง ทุกคนมีหน้าที่ และควรสนใจผู้คนรอบข้างบ้าง การทำงานต้องเปิดใจ ช่วยกันคนละไม้ละมือ เอาปัญหาเข้ามาในใจ ว่ามันเป็นปัญหาของพวกเรา จนกลายเป็นจุดกระตุ้น ในการลดปัญหาโดยเริ่มจากตนเอง สังคมไทยน่าจะน่าอยู่มากขึ้น”