บุคคลสาธารณะ ตอน.อาจารย์ณรงค์ ชวสินธุ์

บทความนี้คัดลอกมาจากหนังสือ บุก_คนสาธารณะ พิมพ์ครั้งที่ 1 มกราคม พ.ศ.2556
“บุคคลสาธารณะจึงเป็นบุคคลที่ให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน แต่ในทางกลับกันเขาจะมีความสุขทุกครั้งที่เขาได้ให้กับสังคมส่วนรวม”

อาจารย์ณรงค์

อาจารย์ณรงค์ ชวสินธุ์
อธิการบดีมหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่

เรื่องกิจกรรมสำหรับผมส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการสนับสนุนมากกว่า เนื่องจากผมใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเรียน เพราะผมเรียนปริญญาตรีวิศวะกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นสาขาที่ต้องมีเวลาในการเรียนเป็นพิเศษ และผมก็กลัวไม่จบตามหลักสูตร แต่ก็มีบ้างที่ไปออกค่ายกับรุ่นพี่

ผมเป็นคนสร้างและเป็นเจ้าของมหาวิทยาลัย การเกิดขึ้นของมหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ มาจากเพื่อนสนิทของผมคนหนึ่ง ซึ่งมีชื่อเสียงมาก ในแวดวงการศึกษาของเมืองไทย ตอนนั้นเขามีความต้องการขยายโรงเรียนระดับอาชีวะมาที่เชียงใหม่ แต่ช่วงนั้นราวปี พ.ศ. 2540 ประเทศไทยเกิดวิกฤตทางการเงินครั้งรุนแรงที่สุด เพื่อนคนนี้ก็ประสบปัญหาการเงิน ไม่ได้สามารถขยายโรงเรียนได้ เขาจึงมาปรึกษา ขอให้ผมช่วยเหลือ ซึ่งตรงกับความตั้งใจของภรรยาผม คือ อาจารย์ชฏิลรัตน์ อัศววิวัฒน์พงศ์ หรืออาจารย์แม่ ที่ทำงานด้านการศึกษาในฐานะ “ครู” มาตลอดชีวิต และได้ข้อสรุปว่า ถ้าเราได้ประโยชน์ด้านการศึกษาที่บ้านเกิดของผม นับเป็นสิ่งหนึ่งที่ดีที่สุดในชีวิตของเราทั้งสอง จึงตัดสินใจดำเนินการ ด้านการศึกษาต่อไป แต่ครั้งนี้ผมตั้งใจจะสร้างโรงเรียนระดับอุดมศึกษา เพราะคิดว่าน่าจะมีประโยชน์ต่อเชียงใหม่บ้านเกิดของผมเป็นวงกว้าง ประกอบกับช่วงนั้น ผมก็มีโอกาสได้อ่านหนังสือพ็อคเก็ตบุค เล่มเล็กๆ บาง ๆ เล่มหนึ่ง ของ ฯพณฯ ท่านพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ มีประโยคหนึ่งท่านบอกว่า “เกิดเป็นคนไทย ต้องทดแทนคุณแผ่นดินที่เกิดมา” ผมยิ่งเกิดแรงบันดาลใจขึ้นมาอีกครั้ง โดยมีเป้าหมายใหม่ที่ใหญ่ที่สุดในชีวิต คือ “จะสร้างมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดเท่าที่ผมจะทำได้ เพื่อตอบแทนบ้านเกิดเมืองนอน”

แรงบันดาลใจสำคัญสามประการ ที่ร่วมกัน
ที่ช่วยสร้างมหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่แห่งนี้ให้สำเร็จคือ

หนึ่ง เพื่อทดแทนคุณ
สอง ปณิธาน
สาม สำนึกสาธารณะ

วิธีการทำงานสำคัญในการทำงาน ผมต้องการให้ทุกคนมีความสุข ผมจึงใช้นโยบายหลักว่า “เราจะทำงานร่วมกันอย่างมีความสุข” ถ้านักศึกษาทุกคน อาจารย์ทุกคน ผู้บริหารทุกคนทำงานร่วมกันอย่างมีความสุขแล้ว เป็นสิ่งที่ดี และสร้างสรรค์ รวมถึงคุณภาพก็จะเกิดขึ้นเอง ด้วยการร่วมแรงร่วมใจของพวกเราทุกคน ผมอยากจะพูดถึงคำ 3 คำ ที่จะช่วยให้ทุกคนทำงานร่วมกันได้อย่างมีความสุข ไม่ขาดสติ และประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี คำ 3 คำ ที่ว่านี้คือ “สวัสดี” “ขอบคุณ” “ขอโทษ”ผมอยากให้ 3 คำนี้ เป็นวัฒนธรรมขององค์กรแห่งความสุข ที่พวกเราควรใช้ในชีวิตการทำงาน การทักทาย “สวัสดี” ในตอนเช้า เป็นการเปิดใจให้พวกเราพร้อมที่จะพูดคุยกันหรือปรึกษากัน และพร้อมมอบรอยยิ้มให้กันและกัน โปรดอย่าลืม” “ขอบคุณ” เมื่อใครทำความดีให้เรา และอย่าลืม “ขอโทษ” ด้วยถ้าทำผิด สุดท้ายก็ต้องมี “เมตตา” พร้อมให้อภัยซึ่งกันและกัน

ความสุขที่เกิดจาการทำงานที่แท้จริงนั้นอยู่ที่ตัวเราทุกคน ถ้าเราบอกว่า “งานที่ทำไม่ใช่หน้าที่” พอเราไปทำงานนั้นมันก็เป็นทุกข์ แต่ถ้าเราบอกกับตัวเองว่า “นี่คือหน้าที่” คือ ความก้าวหน้าของเรา นี่คือโอกาสของเรา เมื่อเราทำเรามีความสุข เพราะฉะนั้นความสุขทั้งหมดนั้น ขึ้นอยู่กับตัวเราว่าเราคิดเป็น หรือคิดไม่เป็นเท่านั้นเอง อยากให้ทุกท่านได้ตระหนักและรับรู้ว่า ความทุกข์ไม่มีวันตาย ความสุขไม่มีวันหมด อยู่ที่เราเลือก ผมมีข้อคิดในการทำงานร่วมกันอย่างมีความสุขจริงๆ มาฝากโดยผมเรียกว่า “คิดบวกก็ได้กำไร คิดลบติดลบ” รวมถึง “คิดบวกแบบ ICE” ที่จะช่วยให้ทุกคนคิดเป็น และประสบความสำเร็จในชีวิตตามที่ทุกคนมุ่งหวังไว้

ข้อคิดสำคัญ
ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่จะทำให้พ่อแม่มีความสุข เท่ากับสามารถส่งลูกมาเรียนหนังสือ และลูกอันเป็นที่รัก เป็นดวงใจของพ่อแม่ สามารถเรียนจบตามเป้าหมาย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า