นานาปัญหาจากสุราเป็นเหตุ มาเลิกเหล้าเข้าพรรษากันเถอะ

news-08-07-14
จากรายงานขององค์การอนามัยโลก ปี 2556 คนไทยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เฉลี่ย 7.08 ลิตรต่อหัวประชากร ทำให้ถูกจัดเป็นประเทศที่ดื่มระดับเสี่ยงปานกลาง ในประเทศไทย มีการสำรวจ กลุ่มประชาชนทั่วไป อายุ 15-59 ปี ปี 2551 พบความชุกของการมีความผิดปกติพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ ร้อยละ 10.9 ผู้ที่มีความผิดปกติพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์พบมีโรคร่วมทางจิตเวช ร้อยละ 7.1 และยังพบมีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายและใช้สารเสพติดชนิดเมทแอเฟตามีน นอกจากนั้น ปี 2552 สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ได้รายงานว่า การดื่มแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของการเกิดภาวะโรคในชายไทย และยังพบว่า ผู้หญิงไทยและกลุ่มวัยรุ่นมีความชุกของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น นายแพทย์ปริทรรศ ศิลปกิจ รองผู้อำนวยการ ฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลสวนปรุง จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า การดื่มสุรามีความสัมพันธ์ต่อการเกิดปัญหาสุขภาพจิตแทบทุกรูปแบบ และเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุหนึ่ง คือ สุราหาซื้อง่าย เป็นสารเสพติดที่ไม่ผิดกฎหมาย จากสถิติผู้มารับการรักษาที่โรงพยาบาลสวนปรุง ปี 2553-2556 พบว่า มีปริมาณสูงเฉลี่ยประมาณ 5,000 รายต่อปี และพบว่า ผู้ที่มีแนวโน้มติดสุรา คาดว่าในที่สุดจะต้องส่งมารักษานั้นยังมีอยู่มาก รองผู้อำนวยการ ฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลสวนปรุง กล่าวด้วยว่า วิธีสังเกตผู้เริ่มติดสุรา ได้แก่ ต้องเพิ่มปริมาณการดื่มมากขึ้นจึงจะได้ฤทธิ์เท่าเดิม มีอาการทางร่างกายเมื่อไม่ได้ดื่ม ควบคุมการดื่มไม่ได้ มีความต้องการเสมอที่จะเลิก พยายามหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ หมกมุ่นกับการดื่มหรือการหาสุรา มีความบกพร่องในหน้าที่การงานหรือการพักผ่อนหย่อนใจ และยังคงดื่มอยู่ทั้งๆ ที่มีผลเสียเกิดขึ้นแล้ว หากคนใกล้ชิดมี 3 เป็นอย่างน้อยจากอาการที่กล่าวมาทั้งหมด ถือว่าบุคคลนั้นกำลังเริ่มติดสุรา ส่วนการหยุดหรือลดปริมาณการดื่มลงต้องเป็นไปอย่างถูกวิธี เนื่องจาก หากรับสุราเป็นเวลานาน เมื่อหยุด หรือ ลดปริมาณอย่างกะทันหัน สมองจะปรับไม่ทัน เกิดอาการตีกลับ มีอาการรุนแรงเป็นระยะ ได้แก่ 6-12 ชั่วโมงแรง หลังหยุดดื่ม มีอาการมือสั่น ตัวสั่น หงุดหงิด อาเจียน ปวดศีรษะ ซึมลง หลัง 24 ชั่วโมง หรือ 1 วัน เริ่มสั่นมากขึ้น กระสับกระส่าย หัวใจเต้นแรง เหงื่อออกมาก ความดันสูง หูแว่ว ประสานหลอน กลัว ระแวง หลัง 48-72 ชั่วโมง หรือ 2-3 วัน อาจเกิดอาการชักแบบลมบ้าหมู อาเจียน ท้องเสีย มีไข้สูง หูแว่นหรือเห็นภาพหลอนมากขึ้น มึนงง สับสน บางรายที่มีอาการรุนแรงและมาโรงพยาบาลไม่ทันอาจเสียชีวิตได้ ดังนั้น การหยุดหรือลดปริมาณการดื่มสุรานั้น จำเป็นต้องรับการรักษาที่ถูกวิธีจึงจะสามารถเลิกได้อย่างปลอดภัย การสังเกตพบโดยเร็วว่าเริ่มติดสุรา จะเป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยนำผู้ติดสุราเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาได้เร็วขึ้น หรือ หากสามารถหลีกเลี่ยงการไม่ดื่มสุราได้ จะเป็นการป้องกันกลุ่มโรคทางร่างกาย ทางระบบประสาท และสมองได้อย่างดี เพราะผู้ดื่มสุรา เสี่ยงต่อการเกิดโรคกว่า 60 โรค ทั้งนี้ หากพบว่าติดสุราหรือมีปัญหาสุขภาพจิตจากการดื่มสุราหรือเสพติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สามารถบำบัดรักษาได้ที่ โรงพยาบาลสวนปรุง หรือ โทรศัพท์ปรึกษาเบื้องต้นได้ที่ สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง ข่าว : กนกรัตน์ ปัญญา ภาพ : ศุภกิตติ์ คุณา

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า