ห้วยปูแกง หมู่บ้านกระเหรี่ยงคอยาว
เรื่องโดย ธงชัย ยงยืน
หมู่บ้านกระเหรี่ยงคอยาว “ดินแดนลึกลับ” สำหรับคนต่างถิ่น ชุมชนบ้านห้วยปูแกง หรือที่ผู้คนส่วนใหญ่รู้จักในนาม หมู่บ้านกระเหรี่ยงคอยาว ที่ใช้โปรโมทการท่องเที่ยวของรัฐ มักเย้ายวนชวนให้นักเดินทาง ทั้งคนไทยและต่างชาติต้องมาเยือน
การมาครั้งนี้ เพื่อพบผู้นำชุมชน โดยการชักชวนจากสหายคำนวน ประดับราช ผู้หลงไหลในวิถีพี่น้องชาติพันธุ์ เดินทางกันในช่วงบ่ายแก่ๆ จากตัวเมืองแม่ฮ่องสอน ลัดเลาะตามเส้นทาง ตัวเมือง-หมู่บ้านน้ำเพียงดิน ราวๆ 20 กิโลเมตร ก็ถึงจุดหมาย
จะเข้าหมู่บ้านได้ต้องอาศัยนั่งเรือข้ามฟาก ข้ามแม่น้ำปาย ที่ท่าเรือห้วยปูแกง บรรยากาศยามบ่ายยังสดชื่น มองเห็นหมอกจางๆ สลับซ้อนทิวเขา เด็กๆ เล่นน้ำอย่างสนุกสนาน
น้องสุรินทร์ หนุ่มน้อยวัย 15 ใช้ช่วงวันหยุด หารายได้พิเศษ ด้วยการพายเรือรับส่ง นักเดินทางผู้มาเยือน พาเราข้ามฝั่ง พร้อมนัดให้มารับเมื่อถึงเวลากลับ
“ความซับซ้อน และแตกต่างหลากหลาย ผสมผสาน ก่อให้เกิดความงดงามทางวัฒนธรรม” น่าจะเป็นคำนิยามสั้นๆ ที่สะท้อนการอยู่ร่วมกันของพี่น้อง 5 ชาติพันธุ์ คือ ชาวกะยัน(กระเหรี่ยงคอยาว), ชาวกะยอ(กระเหรี่ยงหูใหญ่), ชาวกะยา(กระเหรี่ยงแดง), ชาวปกาเกอะญอ(กระเหรี่ยงขาว) และ ชาวไต(ไทยใหญ่) รวม 53 ครอบครัว มีสมาชิกประมาณ 300 คน หลังจากพูดคุยกับ มะปราง หญิงชาวกะยัน(กระเหรี่ยงคอยาว) ครูเทียนชัย(ศศช.) ผู้ใหญ่หน่อง(ผู้นำชุมชน) และร่วมกิจกรรมเล็กๆ กับเด็กบนลานกว้างของหมู่บ้าน เราต่างก็แลกเปลี่ยนกัน ระหว่างเดินทางกลับ คำถามหลักๆ คือ โครงการพัฒนาต่างๆ ที่เข้ามาในหมู่บ้านที่นี่ กระทบวิถีชีวิตชุมชนหรือไม่? เข้ามาเพิ่มภาระให้ชุมชน หรือรับใช้ชุมชน?
สำหรับเราแล้ว บทสนทนาที่เกิดขึ้นอาจเป็นเพียงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในขณะที่เราเข้ามาเพื่อศึกษา เราก็เป็นคนถูกศึกษาสำหรับผู้คนในชุมชนเช่นกัน กระนั้น ก็รู้สึก ได้รับการหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณของการทำงานร่วมกับชุมชน
การตัดสินว่า อนาคตของชุมชนที่นี่ จะเป็นอย่างไร? ทั้งการพัฒนาเชิงโครงสร้าง หรือ วิถีชีวิตอันงดงามและสลับซับซ้อน เราคงไม่สามารถตอบแทนพี่น้องห้วยปูแกงได้ เพราะ
เราต่างเคารพ “สิทธิทางวัฒนธรรม”
กระนั้น มิตรภาพ ความเคารพ ให้เกียรติ และความปรารถนาดี ก็จะยังคงอยู่เสมอ