บ้านเกาะกลาง จากต้นแบบสู้เหล้าสู่ชุมชนสู้ โควิด-19

บ้านเกาะกลาง จากต้นแบบสู้เหล้าสู่ชุมชนสู้ โควิด-19
เรื่อง สมควร ทะนะ, เรียบเรียง ศุภกิตติ์ คุณา

บ้านเกาะกลาง หมู่ 8 ตำบลป่าแดด อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่  มีประชากรทั้งหมด 1,080 คน  เป็นชุมชนชนบท ที่มีวัฒนธรรมตามแนวทางประเพณีล้านนา ได้แก่ ประเพณีสงกรานต์, ประเพณีลอยกระทง, ทำบุญกลางบ้าน, แห่ไม้ค้ำและ สรงน้ำพระธาตุ ในช่วงปี พ.ศ.2540 เกิดปัญหาความไม่สงบจาการดื่มสุราในงานเทศกาลต่าง ๆ ทุกงานบุญจะมีการเลี้ยงและดื่มสุรา ส่งผลให้เกิดปัญหาในด้านต่างๆได้แก่ การทะเลาะวิวาทกัน และเริ่มเกิดผลกระทบรุนแรงมาเรื่อย ๆ บางครอบครัวเกิดการทะเลาะวิวาทกันเกิดเหตุการณ์สามีถือมีดไล่ทำร้ายภรรยา จากผลกระทบจากการดื่มสุราในงานบุญประเพณีดังกล่าว ส่งผลให้ นางยุพิน ตนมิตร ผู้ใหญ่บ้านบ้านเกาะกลาง หมู่ที่ 8  ร่วมกับคณะกรรมการหมู่บ้าน และผู้นำกลุ่มพัฒนาต่างๆในชุมชน มีแนวคิดในการทำงานกับคนดื่มสุราที่เป็นปัญหาในชุมชน  แบ่งช่วงของการดำเนินงานชุมชนคนสู้เหล้าไว้ใน 3 ระยะหลัก ดังนี้

เริ่มต้นจากปัญหาเพื่อก้าวต่อเป็นชุมชนคนสู้เหล้า
ช่วงปี พ.ศ. 2550 นางยุพิน ตนมิตร ผู้ใหญ่บ้านบ้านเกาะกลาง หมู่ที่ 8  ได้เห็นถึงผลกระทบจากการดื่มสุราของคนในชุมชนจึงได้มีการชักชวนผู้มีปัญหาการดื่มสุราที่สมัครใจไปบวช เพื่อให้ห่างไกลจากสภาพแวดล้อมเดิม หลังจากนั้นมีการชักชวนให้ทำกิจกรรมช่วยเหลือชุมชน และเริ่มเปลี่ยนแปลงชุมชนให้เป็นชุมชนงดเหล้า จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงเพื่อให้คนในชุมชมมาเรียนรู้งานด้านเกษตรและร่วมทำกิจกรรมกัน

โครงการชุมชนงดเหล้าสร้างกลุ่มสร้างทางเลือกกิจกรรมเพื่อสุขภาพ
ปี พ.ศ. 2556  เริ่มมีการรณรงค์อย่างจริงจัง ด้วยความรู้ด้านการดูแลสุขภาพเริ่มต้นด้วยตนเอง มีการจัดตั้งกลุ่มปั่นจักรยานเพื่อสุขภาพ กลุ่มเยาวชนเพื่อการรวมกลุ่มทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ลดการเป็นนักดื่มหน้าใหม่ โครงการงดเหล้าเข้าพรรษา โครงการ สปสช. ร่วมกับเทศบาลตำบลป่าแดด ให้ความรู้เกี่ยวกับผลกระทบเรื่องสุราและนโยบายงดเหล้าภายในงานศพ

เกิดคนหัวใจเพชร
ปี พ.ศ. 2557 ผลกระทบจากปัญหาสุราของบ้านเกาะกลางมีแนวโน้มลดลง จากหลักฐานการที่คนในชุมชนเลี้ยงเหล้าในงานบุญ  งานศพปลอดเหล้า ลดการทะเลาะวิวาทในชุมชน อุบัติเหตุในชุมชนลดลง มีผู้เข้าร่วมโครงการเลิกเหล้าและมีบุคคลตนแบบในการเลิกเหล้า  ชุมชนเป็นต้นแบบให้กับชุมชนอื่นในการ ลด ละ เลิก แอลกอฮอล์  มีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการงดเหล้าเข้าพรรษา 80 คน คนที่สามารถเลิกเหล้าได้และยกระดับเป็นคนหัวใจเพชร 5 คน  สามารถลดการดื่มเหล้าได้ 20 คน ร้านค้าปฏิบัติตามข้อตกลงของหมู่บ้านที่สอดคล้องกับ พรบ.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเคร่งครัด

จากการดำเนินงานชุมชนคนสู้เหล้าไว้ใน 3 ระยะหลัก มีปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จ ได้แก่

  1. การออกแบบกิจกรรม
    • กิจกรรมงดเหล้าเข้าพรรษา เป็นกิจกรรมที่สื่อสารและสร้างกระแสให้กับสาธารณะในเรื่องการให้แสดงออกถึงความเคารพศรัทธา ต่อตนเอง และต่อพระพุทธศาสนา เป็นการงดกิจกรรมที่ทำร้ายสุขภาพ ทำลายร่างกาย และกิจกรรมงานศพปลอดเหล้า เป็นกิจกรรมที่สื่อสารถึงการให้เกียรติ ให้ความเคารพกับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว การลดค่าใช้จ่ายในงานศพ
    • กิจกรรมปั่นจักรยาน เป็นกิจกรรมที่สร้างทางเลือกในการใช้เวลาว่าง เป็นการจุดประกายแนวคิดการดูแลสุขภาพเริ่มต้นที่ตัวเอง
    • กิจกรรมชมรมคนหัวใจเพชร เป็นกิจกรรมรวมพลังของกลุ่มคนที่มุ่งมั่นเลิกดื่มสุรา และ พร้อมสื่อสารบทเรียนการหยุดดื่มของตนเองเพื่อช่วยเพื่อน
  2. แกนนำและคณะทำงานในพื้นที่
    • แกนนำและคณะทำงานในพื้นที่ มีความเข็มแข็งและหลายหลายจัดตั้งกลุ่ม องค์กรในระดับชุมชน มีสมาชิก แผนงานการดำเนินงานในระยะยาว มีความสามารถในการประเมินปัญหาและออกแบบแนวทางแก้ไข เช่น การจัดตั้งกลุ่มเพาะเห็ดนางฟ้า มีตลาดรองรับ โดยมีกลุ่มสมาชิก อสม.และชมรมคนหัวใจเพชร หรือกลุ่มคนที่กำลังลด ละ เข้ามามีกิจกรรม
    • การทำงาน เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน ทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้นำชุมชน โดยมีเทศบาลตำบลป่าแดด และ รพ.สต.มาเป็นพี่เลี้ยงให้การสนับสนุน เช่นกองทุนหลักประกันสุขภาพ และเครือข่ายพระสงฆ์ในตำบลป่าแดด
    • การกำหนดมาตรการชุมชน /กติกา หรือตำบลที่ชัดเจน เช่น ในชุมชนจะไม่ให้มีการเกม ร้านคาราโอเกะอย่างเด็ดขาด ส่วนร้านค้าชุมชนที่จำหน่ายให้ความรู้ สร้างความเข้าใจ เน้นย้ำให้เคารพกฎหมาย โดยคณะกรรมการหมู่บ้าน และปกครองออกตรวจเตือนเป็นระยะ
    • แกนนำสามารถนำองค์ความรู้ บทเรียนประสบการณ์เผยแพร่ เพื่อขยายผลเกิดกลุ่มก้อนที่ชัดเจนแล้ว ยังมีคนต้นแบบที่เลิกเหล้าเป็นพี่เลี้ยง ชวน ช่วย เชียร์ และขยายไปสู่หมู่บ้านใกล้เคียง
    • แกนนำมีความสามารถในการใช้ทุนในพื้นที่ สมทบร่วมในการทำงาน เช่น กองทุนสุขภาพท้องถิ่น กองทุนหมู่บ้าน กองทุนพัฒนา หรือกองทุนอื่น เช่น กองทุนตลาดนัดชุมชน ที่ก่อตั้งขึ้นเป็นต้น

จากประสบการณ์ชุมชนคนสู้เหล้า สู่ชุมชนสู้โรคโควิด-19

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19 เป็น “การระบาดใหญ่” หรือ pandemic หลังจากเชื้อลุกลามไปอย่างรวดเร็วในทุกภูมิภาคของโลก  รัฐบาลไทยประกาศข้อกำหนดแห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 1) ใช้บังคับทั่วราชอาณาจักร ห้ามประชาชนเข้าไปในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการติดโรคโควิด-19 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563 และนายกรัฐมนตรีได้ประกาศ พรก.ฉุกเฉิน วันที่ 2 เมษายน 2563 มีข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ฉบับที่ 2 ประเด็นสำคัญคือ ห้ามบุคคลใดทั่วราชอาณาจักรออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 22.00 น. ถึง 04.00 น. ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2563 เป็นต้นไป  จากสถานการณ์ดังกล่าวประกอบกับกระแสรณรงค์การดูแลตนเอง การรับผิดชอบต่อสังคม การกระตุ้น รณรงค์จากทุกภาคส่วนในการมีส่วนร่วมป้องกันเฝ้าระวังและสู้กับโรคโควิด-19 ทำให้บ้านเกาะกลาง ที่มีประสบการณ์ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานในการแก้ไขปัญหาสุราที่เกิดขึ้นในชุมชน ด้วยหลักการที่ชุมชนมีความรู้สึกร่วมในการเป็นเจ้าของปัญหา จึงมีความตระหนัก และ มีความพร้อมในการนำประสบการณ์จากการแก้ไขปัญหาต่างๆในชุมชนรวมถึงปัญหาสุรา มาดำเนินงานในการป้องกันโรคโควิด-19

การรับรู้ข้อมูลข่าวสาร โรคไวรัส COVID-19

  1. ได้รับข่าวสารจากการประชาสัมพันธ์ ของเทศบาลตำบลป่าแดด
  2. เสียงตามสาย ทั้ง 13 หมู่บ้าน บ้านเกาะกลาง เป็นหนึ่งในตำบลป่าแดด
  3. เสียงตามสายของผู้ใหญ่บ้าน จึงมีการแจ้งข่าวสารแบบรวดเร็วและทันควัน
  4. หนังสือพิมพ์ โทรศัพท์ สื่อออนไลน์ ในฐานะที่เป็นผู้นำ จึงได้ประชาสัมพันธ์ให้แก่ชาวบ้าน

การกำหนดมาตรการต่างๆ

  1. มาตรการห้ามไม่ให้ชาวบ้านมั่วสุมถ้าไม่มีความจำเป็นห้ามออกจากบ้าน เพื่อป้องกันและช่วยสาธารณสุขเพื่อที่จะลดการแพร่เชื้อ
  2. ชุมชนได้มีมาตรการของชุมชนออกตรวจตามร้านค้า ที่ห้ามเข้า เช่นร้านตัดผม ร้านเหล้า รวมถึงร้านหน่วยบริการที่มีโต๊ะบริการนั่งรับประทานอาหาร ให้งดนั่งทานที่ร้าน แต่สามารถซื้อกลับบ้านได้
  3. การร่วมกันจัดทำป้ายรณรงค์ การทำ Mask หรือหน้ากากอนามัยโดยเทศบาล ผู้นำชุมชน คนหัวใจเพชร และจิตอาสา
  4. ออกมาตรการห้ามขายในหมู่บ้านและหลังจากมีมาตรการของรัฐบาลในฐานะ นักเฝ้าระวังของผีน้อยต่อมาก็มีผู้ที่มาจากกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัดเข้ามาอยู่อาศัยในช่วงโรคแพร่ระบาด
  5. เฝ้าระวังและออกตรวจหลายจุดและกลุ่มเสี่ยงที่เข้ามาแล้วก็ต้องมีการติดตาม ให้ความรู้กับครอบครัวนั้นและดูอาการว่าเป็นอย่างไรต่อไป
  6. มาตรการปิดตลาดนัดตั้งแต่ 2-30 เมษายน เป็นต้นไปทั้งนี้ดำเนินการภายใต้มติชุมชนเป็นหลัก และประสานกับท้องถิ่น ปกครองอย่างใกล้ชิด
  7. การแจกหน้ากากอนามัย เพื่อเป็นช่องทางหนึ่งลดช่องทางการแพร่และรับเชื้อ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า