“อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” สโลแกนนี้ทำเอาใครหลายๆ คน ต้องหยุดกิจกรรมนอกบ้านทั้งหมด รวมไปถึงเด็กๆ เองที่กำลังอยู่ในช่วงเวลาปิดเทอม ต้องงดกิจกรรมนอกบ้าน เพื่อป้องกันตนเองให้ห่างไกล COVID-19
เชื่อว่าเวลานี้นอกจากเด็กๆ จะปิดเทอมอยู่บ้านแล้ว พ่อแม่ผู้ปกครองก็ต้อง Work From Home อยู่ที่บ้านเช่นเดียวกัน ด้วยสถานการณ์ที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการออกนอกบ้าน หากเผลอออกไปเพียงนิดเดียว อาจทำให้นำเจ้า COVID-19 กลับมาให้คนที่บ้านอีกด้วย
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้แย่เสมอไป เราควรเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส ใช้เวลานี้เพื่อสานสัมพันธ์กับคนในครอบครัว ซึ่งพ่อแม่อาจฝึกทักษะต่างๆ จากสิ่งรอบตัวให้กับเด็กๆ เช่น การพาลูกๆ เล่นอิสระในบ้าน ถือเป็นการเรียนรู้อีกแบบหนึ่งที่สามารถทำได้ง่ายๆ ร่วมกับสมาชิกในครอบครัว
เมื่อไม่นานมานี้ สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่าย เปิดกิจกรรม ปิดเทอมสร้างสรรค์ อัศจรรย์วันว่างปีที่ 3 เพื่อรองรับกิจกรรมสำหรับเด็กๆ ในช่วงปิดเทอม นางสาวณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนังกสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. เล่าว่า สสส. ดำเนินกิจกรรม ปิดเทอมสร้างสรรค์มาปีที่ 3 แล้ว เนื่องจากเด็กๆ ปิดเทอมกันทุกปี ปิดเทอมใหญ่ประมาณ 120 วัน โดยมองช่องว่างตรงนี้ว่าผู้ปกครองไม่ได้ปิดเทอม แต่ต้องทำงาน จึงจำเป็นที่จะต้องมีกิจกรรมเข้ามาทดแทน ถ้าเช่นนั้นน้องๆ ต้องหากิจกรรมที่ต้องอยู่บ้าน มีอุปกรณ์ มีอะไรก็เล่นไป
“ไม่ใช่เฉพาะ สสส. ที่มองเห็นถึงช่องว่างตรงนี้ หลายหน่วยงานก็มองเห็น แล้วพากันจัดกิจกรรมหลากหลายเลย เราก็มองว่ากิจกรรมสำหรับเด็กๆ ในช่วงปิดเทอมกระจัดกระจายเต็มไปหมด ทำยังไงที่จะให้มารวมอยู่ที่เดียว ค้นหาได้ง่ายๆ ก็เลยทำเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ www.ปิดเทอมสร้างสรรค์.com เป็นเว็บไซต์ที่รวมสารพัดกิจกรรมไม่ใช่เฉพาะของ สสส. จริงๆ แล้วสารพัดหน่วยงานทั่วประเทศ และแบ่งหมวดกิจกรรมออกเป็น 4 หมวด ปีนี้เป็นปีที่ภาคีให้ความร่วมมือกว่า 300 แห่ง มีกิจกรรมกว่า 2,000 กิจกรรม มีตำแหน่งงานกว่า 10,000 ตำแหน่ง ที่เปิดรับ ทั้งหมดนี้คือแผนการดำเนินงานก่อนสถานการณ์ COVID-19”
แต่เมื่อประเทศไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์ COVID-19 จะทำอย่างไร?
นางสาวณัฐยา เล่าต่อว่า แต่เมื่อเกิดสถานการณ์ COVID-19 ขึ้น เรามองว่าต้องให้ทุกคนอยู่กับบ้านมากกว่า ซึ่งตอนนี้หน่วยงานต่างๆ และภาคีที่จัดกิจกรรมก็จำเป็นต้องยกเลิกทั้งหมด ทุกคนมีความจำเป็นที่จะต้องอยู่บ้าน จึงเป็นโอกาสดีที่จะได้ทำกิจกรรมสนุกๆ ร่วมกันในครอบครัว อย่ากังวลว่า ไม่มีของเล่นราคาแพง หรือพื้นที่ที่จะให้เด็กๆ เล่นมากมาย จริงๆแล้ว แค่มุมเล็กๆ ภายในคอนโดหรือห้องที่ไม่มีพื้นที่มากนัก ก็สามารถสร้างสรรค์พื้นที่เล่นอิสระได้ ชวนเด็กๆ มาทำสิ่งประดิษฐ์สิ่งง่ายๆ ด้วยตนเอง ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สามารถค้นคว้าเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ปิดเทอมสร้างสรรค์ ตรงหมวด DIY ในบางครั้งเราก็นึกไม่ถึงว่าเด็กๆ จะเพลิดเพลินกับการทำกิจกรรมเหล่านี้มาก เช่น การลองเอาเครื่องครัวที่ไม่เป็นอันตรายมาให้เด็กๆ เล่น เด็กๆ จะนั่งเล่นอยู่ได้นานเป็นชั่วโมงเลย เราเรียกกิจกรรมแบบนี้ว่า “การเล่นอิสระ” คือ การเอาของต่างๆ ที่มีในบ้านและไม่เป็นอันตราย เอามากองๆ วางรวมไว้ แล้วปล่อยให้ลูกเลือกเล่นตามใจชอบ เป็นการให้ลูกได้ปลดปล่อยจินตนาการด้วยการเล่นกับลูก สร้างความฉลาดได้ ถ้าให้เวลาลูก
- จัดมุมเล่นบทบาทสมมุติในบ้าน
- เล่นสร้างบ้านตามจินตนาการด้วยอุปกรณ์ใกล้ตัว
- เล่นอิสระ เช่น เล่นดิน เล่นทราย ต่อบล็อกไม้ ต่อเลโก้
- เล่นเล่าเรื่องต่อกันคนละประโยค หรือต่อเพลง
- เล่นกับธรรมชาติใกล้ตัว สวน ต้นไม้ สัตว์เล็กสัตว์น้อยรอบบ้าน
- เล่นตั้งคำถาม หากคำตอบเป็นสิ่งนี้ เช่น หากคำตอบคือพระอาทิตย์ คำถามคืออะไร
- กระโดด ปีนป่าย คืบคลานโดยสร้างพื้นที่ที่ปลอดภัยให้ลูก
- เล่นจ๊ะเอ๋ ปูไต่ ร้องเพลงโยกเยก สำหรับลูกเล็ก
- อ่านนิทานด้วยกัน
- หากจำเป็นต้องเดินทาง เล่นบวกเลขป้ายทะเบียนรถขณะเดินทาง
นางสาวณัฐยา เสริมว่า ถ้าน้องๆ เล็กๆ แบเบาะ การอ่านนิทานให้ฟัง ร้องเพลงให้ฟัง เป็นอะไรที่ดีมาก กับเด็กเล็กๆ ถ้าโตหน่อยก็ให้เขาเลือกเองว่าอยากที่จะทำอะไร เพียงแต่ว่าขอให้อยู่ในบริเวณบ้านไม่ทำอะไรในที่ที่คนเยอะๆ ไม่ได้รวมกลุ่มกับเพื่อนๆ นอกจากนี้ยังมีวิธีที่คุณพ่อ คุณแม่ และผู้ปกครอง จะสอนน้องๆ ให้ปฏิบัติตัวให้ห่างไกล COVID-19 ได้ ดังนี้
- ควรจะหลีกเลี่ยงพาน้องๆ ไปสถานที่ที่คนเยอะๆ เช่น ตลาดนัด งานวัด ห้างสรรพสินค้า ที่ใดก็ตามที่คนไปชุมนุมกันเยอะๆ ตอนนี้น่าเป็นช่วงที่ต้องหลีกเลี่ยง อยู่ที่บ้าน เล่นกันอยู่ในบ้านจะดีที่สุด
- ชวนน้องล้างมือบ่อยๆ ฝึกเล่นเรื่องล้างมือกันก็ได้ ทำให้เป็นเรื่องสนุก ๆ ในยูทูปยูทูบมีคลิปเยอะที่สอนเด็กเรื่องวิธีการล้างมือ
- สอนเรื่องของการใช้เจลแอลกอฮฮล์อย่างถูกวิธี
- กินร้อน ช้อนตัวเอง ฝึกน้องๆ ให้ชิน
นับว่าในความโชคร้าย ยังมีสิ่งดีๆ เข้ามาบ้าง พลิกวิกฤตจากการอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ให้เป็นโอกาสทำสิ่งดีๆ ทั้งโอกาสในการสร้างสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว โอกาสในการพัฒนาและเสริมทักษะนอกห้องเรียนให้แก่เด็กๆ
นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับ สสส. จัดทำสื่อเพื่อประชาสัมพันธ์ที่เป็นองค์ความรู้ที่จำเป็นในการใช้ป้องกัน และดูแลรักษาสุขภาพในช่วงสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 นี้ โดยสามารถรับชมรายละเอียดเพิ่มเติม และเข้าไปดาวน์โหลดได้ที่ https://bit.ly/2UwQOFt เพื่อทำการสื่อสารให้เข้าถึงกลุ่มคนทุกเพศทุกวัยมาก เน้นสื่อสารข้อมูลที่น่าเชื่อถือ โดยใช้แฮชแท็ค #ไทยรู้สู้โควิด เราเชื่อว่าทุกคนจะผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปด้วยกัน
แหล่งอ้างอิงข้อมูล : www.thaihealth.or.th
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ