Social Distancing VS Physical Distancing
เมื่อคนที่กลับจากบางกอก
กลับกลายเป็นคนชายขอบของสังคมไทย ณ เวลานี้
ตัวเลขผู้ติดเชื้อ COVID-19 ทั่วโลกเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2563 ยังคงพุ่งขึ้นต่อเนื่อง จำนวน 518,378 ราย เสียชีวิต 23,529 ราย รักษาหาย 111,090 ราย อเมริกา แห่งเดียว มีผู้ติดเชื้อสูงสุด 85,505 ราย เสียชีวิต 1,288 ราย ในขณะที่อิตาลีมียอดผู้เสียชีวิตสูงสุด จำนวน 8,165 ราย และมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง
ประเทศไทย วันนี้ (27 มีนาคม 2563) มีผู้ติดเชื้อรวม 1,136 ราย เสียชีวิต 5 ราย นับเป็นจุดตัด รอยต่อ ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อ จะมีแนวโน้มสูงขึ้น หรือยังคงรักษาระดับการแพร่ระบาด ในวงจำกัด หลายมาตรการเชิงป้องกันถูกนำมาใช้ ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน ด้วยหวังว่า จะควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดเหล่านี้ให้ได้เร็วที่สุด
Social Distancing หรือ การเว้นระยะห่างทางสังคม เป็นคำแนะนำเพื่อหวังเป็นการลดความเสี่ยง ในการติดเชื้อจากคนสู่คน แต่ดูเหมือน การรับรู้ ของผู้คนในสังคมไทย จะเข้าใจไปเป็นคนละอย่าง ประจวบกับ มาตรการกักตัวเอง 14 วัน ของคนที่เดินทางจากกรุงเทพฯ ยิ่งตอกย้ำ ความตื่นตระหนกของผู้คนรอบข้างยิ่งขึ้น
แม้จะได้ชื่อว่า เป็นเมืองแห่งพระพุทธศาสนา กระนั้น สังคมไทย ในวันนี้ นับเป็นสังคมเปราะบาง สมบูรณ์แบบ เราตระหนก ตื่น กลัว ระแวง ญาติ พี่น้องของเรา ในชุมชน หมู่บ้านบางแห่งถึงขั้น รังเกียจผู้คนที่มาจากกรุงเทพฯ ทำให้ต้อง กักตัวเองอยู่อย่างโดดเดี่ยว
ผมไม่ได้ปฏิเสธ Social Distancing แต่อย่างใด เพียงแต่ อยากทำความเข้าใจใหม่ ว่า เราควรแค่ต้องเว้นระยะห่างระหว่างร่างกาย “Physical Distancing” เท่านั้น ซึ่งก็มีคำแนะนำว่า ระยะ 2 เมตร น่าจะปลอดภัยที่สุด
น่าจะถึงเวลา ที่เราต้องรับบมือกับวิกฤตการณ์ครั้งนี้ ด้วยสติ ตระหนักรู้ด้วยปัญญา และต้องสร้างความใกล้ชิดทางสังคม “Social connected” ให้มากขึ้น เพราะช่วงเวลานี้ นับเป็นช่วงเวลาแห่งความยากลำบาก หลายคนตกงาน เพราะถูกเลิกจ้าง บางคนต้องปิดกิจการลง เพราะไม่มีลูกค้า แต่ชีวิตต้องดำเนินต่อไป บนภาระหนี้สินที่รุงรัง ที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือน มองหาอนาคตแทบไม่เจอ ทำได้เพียงประครองชีวิตให้พ้นในแต่ละวันเท่านั้น
พี่น้องเราเหล่านี้ จึงเป็นกลุ่มคนที่เราต้องแสดงความรู้สึกเห็นใจอย่างที่สุด เข้าอกเข้าใจกันมากที่สุด ต้องช่วยเหลือกัน ห่วงใย ปลอบใจกัน และร่วมมือกัน
ถ้าพวกเราร่วมมือกัน มีความรับผิดชอบต่อสังคม เมื่อกลับมาจากพื้นที่เสี่ยงติดโรค เช่น ต่างประเทศ หรือ กรุงเทพฯ ต้องแยกตัวเองจากคนอื่น 14 วัน จนมั่นใจว่าปกติ ปลอดภัย ถ้ามีความจำเป็นต้องไปทำธุระ ที่ต้องเดินทาง หรือทำกิจกรรมต่างๆ ก็ควรเว้นระยะห่างทางร่างกาย 2 เมตร สวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกัน การไอหรือจามไปโดนผู้อื่น
ไม่ฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้า เพื่อทำกำไรมากๆ เราควรฉวยโอกาสที่จะได้แสดงความห่วงใย ส่งต่อความปรารถนาดี ให้กำลังใจ ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน พร้อมจะอยู่เคียงข้างกันในห้วงทุกข์ระทมเช่นนี้
บุคลากรทางการแพทย์มีอยู่อย่างจำกัด เมื่อเทียบกับปัญหาที่ขยายวงกว้างในเวลานี้ คุณหมอทุกท่าน เหน็ดเหนื่อย ตรากตรำ รองรับความเสี่ยง ที่ต้องรับมือกับผู้ป่วยในแต่ละวัน ชีวิตมีความเสี่ยงสูง อยู่กับความเป็นความตาย ในทุกวินาที
ผมหวังว่าเราจะผ่าน ความกลัว หวาดระแวง ตระหนัก ก้าวข้ามสู่ การดูแลกันด้วยความรัก ปรารถนาดี สำนึกรับผิดชอบต่อสังคม และมีส่วนช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกันครับ
เรื่องโดย ธงชัย ยงยืน
ภาพประกอบ: กรรมกรหมวกขาว, BTN